การเขียนผังความคิด
…เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2558 นางสมศรี สวัสดี และนางนภสวรรณ พันพิงค์ ได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สอนอย่างไร เด็กไทยจึงเก่งคิด” ณ ห้องประชุมดอยจอมทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 โดยมีนายธัญญา ผลอนันต์ เป็นวิทยากร คุณครูที่เข้าการอบรมจึงได้ขยายความรู้ที่ได้เกี่ยวกับ Buzan Mind Map® ที่ได้รับมาพอสังเขป ดังนี้
Buzan Mind Map®
Mind Map® คืออะไร …?
คือเครื่องมือในการจดบันทึกที่ใช้สมองสองซีกอย่างเต็มที่ คิดขึ้นโดยชาวอังกฤษชื่อ Tony Buzan เมื่อปี พ.ศ.2517
บันทึกที่ดี ต้องมี 5 ส
ส ตัวแรกคือสัญลักษณ์ (ภาพ)
ส ตัวที่สองก็คือเส้น
ส ตัวที่สามคือสั้น (คำที่ใช้ไม่เป็นวลี หรือประโยค แต่เป็นคำมูล)
ส ตัวที่สี่คือสี
ส ตัวสุดท้ายคือสร้างสรรค์ (สวย)
กฎของ Mind Map®
แก่นแกน (คือตัวแทนของเรื่องที่เราสนใจ)
√ เริ่มแก่นแกนจากกึ่งกลางหน้า
√ แก่นแกนควรเป็นภาพหรือสัญลักษณ์และมีอย่างน้อย 3 สี
√ แก่นแกนควรมีขนาดพอเหมาะ (กระดาษ A4 ให้เขียนแก่นแกนขนาดประมาณเหรียญ 10 /A3 ขนาดธนบัตรพับครึ่ง)
√ ไม่ควรล้อมกรอบ ปล่อยให้แก่นแกนลอยอยู่กลางหน้า
กิ่งแก้ว
√ ประเด็นสำคัญ คำกุญแจหรือใจความให้แตกเป็นกิ่งแก้วออกมารอบและติดกับแก่นแกน
√ กระจายออกรอบทิศทาง พยายามใช้ภาพและสัญลักษณ์แทนคำ
√ เส้นของกิ่งแก้ววาดให้โค้งเรียวลง ดูเหมือนสิ่งมีชีวิต เช่น กิ่งไม้ รากไม้
√ เส้นของกิ่งแก้วต้องโยงเชื่อมติดกับแก่นแกน ให้ดูเหมือนแตกหน่อออกจากแก่นแกน
กิ่งก้อย
√ ประเด็นรอง รายละเอียด หัวข้อย่อย โยงเชื่อมติดกับกิ่งแก้ว
√ ใช้สีเดียวกับกิ่งแก้ว เขียนให้เส้นโค้งไหลลื่นเป็นธรรมชาติ อย่าเขียนเป็นเส้นตรง
คำ
√ ให้ใช้คำมูลสั้นๆเขียนตัวบรรจงขนาดอ่านได้ชัดเจน
√ ภาษาอังกฤษ ให้ใช้ตัวนำหรือ CAPITAL
√ ภาพ/คำ/สัญลักษณ์ ต้องมีเส้นรองรับข้างใต้เสมอและโยงเชื่อมติดกับเส้นก่อนหน้า
√ คำที่อยู่ห่างแก่นแกนออกไปเขียนเล็กลง ลดหลั่นกันไปได้
เส้น
√ เส้นให้ยาวกว่า ภาพ/คำ/สัญลักษณ์ เล็กน้อย
√ เส้นบนกิ่งแก้วเดียวกัน ต้องเชื่อมต่อกันอย่าให้ขาด
√ เส้นบนกิ่งแก้วเดียวกัน ควรใช้สีเดียวกัน
√ เขียนให้เส้นโค้งไหลลื่นเป็นธรรมชาติ อย่าเขียนเป็นเส้นตรง
เน้น
√ ข้อมูลหรือความคิดที่สำคัญและที่ผุดขึ้นหลายแห่งอาจล้อมกรอบ ใส่กล่อง ล้อมวงกลมหรือป้ายสีให้ดูเด่น เห็นง่ายขึ้นได้ แต่อย่าพร่ำเพรื่อไปทั่วทั้งแผ่น
เชื่อมโยง
√ ข้อมูลหรือความคิดที่มีความสัมพันธ์กัน แต่อยู่ห่างกันหรืออยู่คนละกิ่ง ก็ให้ใช้ลูกศรเชื่อมโยงได้แต่งแต้ม (หลังจากบันทึกทุกอย่างแล้วเท่านั้น)
√ ลองใช้เวลาแต่ง แต้ม ต่อ เติม Mind Map® ให้สวยงามแทรกอารมณ์ขัน
√ ล้อมสาขาที่แตกออกจากกิ่งแก้วเดียวกัน แต่ละกิ่งให้เป็นพรมแดนต่างสีกัน เพื่อให้ดูง่ายขึ้น
ขั้นตอนการเขียน Mind Map®
1. เริ่มจากเขียนแก่นแกนกลางหน้ากระดาษ
2. วาดกิ่งแก้วเป็นเส้นเรียวโค้งลงรอบแก่นแกน
3. เขียนกิ่งก้อยแตกออกมาจากกิ่งแก้วที่ปลายกิ่งทีละกิ่งจนกระทั่งครบ
ตัวอย่าง Mind Map® กฎของ Mind Map® © ขวัญฤดี และ ธัญญา ผลอนันต์
ตัวอย่างรูปที่นำมาใช้ใน Mind Map® ได้ © ขวัญฤดี และ ธัญญา ผลอนันต์
ตัวอย่าง Mind Map® © ขวัญฤดี และ ธัญญา ผลอนันต์
การตรวจสอบผลงาน Mind Map® ของตัวเอง
1. แก่นแกน (ภาพกลาง) มีขนาดพอเหมาะ ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ถ้าใหญ่ไปจะทำให้เหลือเนื้อที่สำหรับขยายกิ่งก้านสาขาของ Mind Map® ออกไปได้น้อยลง แต่ถ้าเล็กไปก็จะทำให้ไม่น่าสนใจ สมองไม่จำ ขนาดที่เหมาะสมสำหรับกระดาษขนาด A4 คือเหรียญ 10 บาท
2. ห้ามล้อมแก่นแกนด้วยเส้นรอบวงใดๆทั้งสิ้น ยกเว้นว่าจะมีนัยสัมพันธ์กับเรื่องนั้นๆ เช่น อาณาเขตเกาะหรือประเทศ ปกหนังสือ
3. เส้นของกิ่งแก้วต้องโยงเชื่อมกับแก่นแกนเสมอ ต้องมีจุดใดจุดหนึ่งสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของแก่นแกน เส้นจะลอยอยู่โดดๆ ไม่ได้ ในกิ่งแก้วเดียวกัน กิ่งก้อยที่แตกออกมาก็ต้องเชื่อมต่อกันด้วย (ดูข้อ 10)
4. คำยิ่งสั้นยิ่งดี หากเขียนเพื่อคิดต่อ ต้องพยายามใช้คำที่สั้นที่สุด เป็นคำมูลได้ยิ่งดี แต่หากเขียนเพื่อจดจำแล้ว ใช้คำมูลหลายคำได้ จำง่ายๆว่า เขียนเพื่อจำ พอนำหลายคำ(มูล) มาใช้ได้ เขียนเพื่อคิด ริดให้เหลือคำ(มูล)เดียว (คำมูลคือคำที่มีพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์และมีความหมายอย่างน้อยหนึ่งความหมาย เช่น กิน มะม่วง มะละกอ)
5. เส้นต้องมีความยาวสัมพันธ์กับคำหรือภาพ หากเส้นยาวมากเกินไปจะทำให้เสียพื้นที่ในการขยายไปโดยไม่เป็น นอกจากนั้น เมื่อเส้นยาวเท่าๆ กับคำแล้วยังช่วยในการฟื้นความจำไว้ เมื่อนึกคำไม่ออกว่าคำนั้นควรจะสั้นหรือยาวอย่างไร
6. กิ่งก้อยที่แตกออกมาจากกิ่งแก้วกิ่งเดียวกันควรมีสีเดียวกันทั้งแขนง เพื่อช่วยให้จำง่าย จำเป็นชุดๆ ไป นอกจากนั้น หากเขียน Mind Map® ชำนาญขึ้น เราอาจใช้สีประจำกับความคิดต่างๆ เช่น สีแดงกับเรื่องด่วน เมื่อใช้สีที่ส่อไปถึงเนื้อหาด้วยแล้ว ก็จะยิ่งผูกโยงเรื่องไว้กับหลายๆ สิ่งทำให้เราจำง่ายขึ้น
7. ต้องแตกกิ่งที่จุดสุดท้ายของเส้นเสมอ อย่าไปแยกกิ่งออกมากลางเส้น ยกเว้นกรณีที่มีข้อย่อยมากมายจนแตกจากปลายไม่หมด การแตกกิ่งจากกลางเส้นทำให้ความคิดไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร
8. เวลาเขียน Mind Map® บนกระดาษแผ่นเดียวระวังอย่าหมุนกลับเป็นวงกลม จนทำให้เขียนคำบางคำกลับหัวหลับหางอ่านยาก พยายามเอียงกระดาษไปทางซ้ายหรือขวาให้ไม่เกิน 50 องศา
9. ไม่ควรใช้วลีหรือประโยคใน Mind Map® เลือกแต่คำที่เป็นประเด็นหลักเท่านั้น เลือกคำที่สั้น กระชับ ตรงประเด็นเขียนแต่คำมูลเท่านั้นจะดีที่สุด
10. เส้นทุกเส้นของกิ่งแก้วและกิ่งก้อยต้องโยงเชื่อมต่อกัน อย่าเขียนเส้นให้ขาดหรือแหว่ง เพื่อให้ความคิดเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
11. ห้ามเขียนภาพหรือคำ แล้วล้อมด้วยวงกลมหรือรูปเหลี่ยม เพราะทำให้ความคิดไม่ลื่นไหล ทั้งยังเสียพื้นที่ในช่วงของเส้นที่ไม่มีคำไปโดยเปล่าประโยชน์ หากต้องการเน้นคำหรือภาพ ให้เขียนลง “บน” เส้น แล้วค่อยล้อมวงรอบให้วงอยู่ส่วนบนของเส้นเช่นเดียวกับคำหรือภาพที่ต้องการเน้นอย่าลืมเขียนเส้นให้ยาวเกินวงกลมหรือสี่เหลี่ยมออกมาเล็กน้อย เพื่อเปิดโอกาสไว้ต่อความคิดในอนาคต
12. ห้ามเขียนคำ/ภาพปิดท้ายเส้น เพราะเป็นการปิดกั้นไม่ชวนให้เราคิดต่อ ยกเว้นเมื่อเขียนจบแล้ว จะวาดภาพประกอบปิดปลายบางกิ่ง เพื่อความสวยงามได้ แต่จะให้ดีก็ควรมีเส้นรองรับไว้ด้วย
13. ห้ามเขียนคำ/ภาพทั้งบนและใต้กิ่งเดียวกัน เช่น ไทยบนกิ่งและอังกฤษใต้กิ่งเดียวกัน เพราะหากกิ่งนั้นแตกแขนงออกไป จะสับสนว่าข้อความที่แตกออกมาเชื่อมกับคำบนหรือคำล่าง ยกเว้นว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่เป็นคนละภาษาหรือใช้ศัพท์ที่ต่างกัน…
(นางสมศรี สวัสดี เนื้อหา-ภาพ / นายอนุชิต โปราหา รายงาน)